บริการรับทำ SEO โปรโมทเว็บไซต์ สอนทำ SEO สดผ่าน Blogger

แนะนำวิธีทำ SEO เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของ Search Engine ที่มีผลต่อการจัดลำดับผลการค้นหาของเว็บไซต์ หลายคนคงอยากรู้ว่าเครื่องมือค้นหาชื่อดังอย่าง Google, Yahoo และ Bing นั้นมีเทคนิคการจัดลำดับอย่างไร เราพร้อมนำเสนอข้อสมมุติฐานและหลักการเพื่อเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มของการทำ SEO ที่ทันสมัยให้กับผู้สนใจทุกคน

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เซิร์ฟเวอร์ล่มกับผลเสียทาง SEO

ประสิทธิภาพการทำงานของ เซิร์ฟเวอร์ (Server) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) มีผลสำคัญกับอันดับทาง SEO อยู่พอสมควร หากเราให้นิยามของเว็บไซต์คุณภาพ แท้จริงแล้วมีอยู่หลายปัจจัยในการจำกัดความดังกล่าว ซึ่งความรวดเร็วในการเปิดหน้าเว็บเพจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลสำคัญ สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องจริงที่ Google คงไม่ต้องการให้เว็บไซต์คุณภาพที่ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ดี มีเนื้อหาตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน (กลุ่มผู้คนหา) แต่กลับไม่สามารถเปิดหน้าเว็บเพจได้ หรือทำงานได้ช้าจนผู้เข้าชมรู้สึกเบื่อหน่าย

ปัญหาหน้าเว็บเพจเข้าไม่ได้หรือเซิร์ฟเวอร์ล่มไปชั่วขณะ อาจส่งผลเสียกับอันดับบน SERPs ได้เด่นชัด ทันทีที่มีการอัพเดทการจัดอันดับและไม่สามารถตรวจพบเว็บไซต์ดังกล่าวได้ Index ของเว็บไซต์นั้นอาจหายไปจาก Google ชั่วขณะ "สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่บทลงโทษรุนแรง" แต่เป็นเพียงการคัด Index ที่ใช้งานไม่ได้ออกไปสักพัก เพื่อหา Index ที่ดีกว่า เข้ามาทดแทนอันดับ หลังจากที่มีการเก็บข้อมูลหน้าเว็บเพจเหล่านั้นครั้งใหม่ หากเว็บไซต์สามารถเข้าได้ปกติ ก็จะถูกจัด Index ให้ขึ้นมาบน SERPs เหมือนเดิม แต่จะมีอันดับที่ดีเหมือนเดิมไหมนั้นไม่แน่นอน

ครั้งแรกที่หน้าเว็บเพจไม่สามารถเข้าได้ชั่วขณะ หรือเกิดเหตุขัดข้องทาง Server ทาง Google อาจเข้าใจปัญหาทางเทคนิคเหล่านี้ดีว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเว็บไซต์ จึงไม่น่ามีความเสียหายต่อการทำอันดับทาง SEO มากนัก แต่หากเซิร์ฟเวอร์ล่มบ่อยๆ หรือหน้าเว็บเพจเข้าไม่ได้เป็นประจำ สิ่งนี้อาจเกิดผลเสียต่ออันดับบน SERPs เป็นอย่างมากเลยทีเดียว

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เหตุใด Back Link จึงเป็นปัจจัยหลักสำหรับการทำ SEO

บ่อยครั้งที่ผู้เริ่มต้นหรือมือใหม่เกิดความสับสนและความเข้าใจที่เกินจริงว่า Back Link ยิ่งมาก ยิ่งทำให้เว็บไซต์ที่ทำ SEO นั้นมีอันดับที่ดีขึ้นมากเช่นกันจริงหรือ? แท้จริงแล้วการจัดอันดับนั้นมาจากหลายปัจจัยเป็นหลักเพื่อค้นหาข้อมูลที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับมากที่สุดในสายตาของ Search Engine ซึ่งหากมองกว้างๆ ก็จะมีอยู่แค่ 3 ปัจจัยหลักเท่านั้นนั่นคือ


เนื้อหา (Content) ต้องเป็นเนื้อหาที่สมบูรณ์ แน่นอนเรามาลองคิดดูว่าถ้าเราต้องการค้นหาข้อมูลอะไรสักอย่างใน Google ยกตัวอย่างเช่น "เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก" ถ้าเราเจอผลลัพธ์การค้นหา 2 เว็บ โดยที่เว็บไซต์แรกมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าอยู่ 1 ย่อหน้า (ประมาณ 10 บรรทัด) และเว็บไซต์ที่สองมีข้อความสลับกับรูปภาพสินค้าให้เลือกมากมาย พร้อมอธิบายสินค้าแต่ละชิ้นอย่างละเอียดรวมถึงราคา ... คุณคิดว่าเว็บไซต์ไหนจะดูน่าสนใจมากกว่ากัน

การวัดคุณภาพของเนื้อหานี้นอกจากจะได้ Content ที่ไม่ซ้ำจากที่ใดแล้วเนื้อหายังจะต้องชวนน่าอ่านและทำให้ผู้เข้าชมสามารถติดตามข้อมูลอยู่ในหน้าเว็บเพจเหล่านั้นเป็นระยะเวลาที่นานกว่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาระบบสถิติของเว็บไซต์ที่สามารถแสดงได้ว่าหน้าเว็บเพจใดของเราได้รับความสนใจมากที่สุด หรือมีผู้ชมอยู่ในหน้าเว็บเพจนั้นนานที่สุด และเทคโนโลยีหรือแนวคิดเหล่านี้ Google ได้นำมาพิจารณาและอาจใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าหน้าเว็บเพจใดที่มีเนื้อหาคุณภาพมากกว่ากันได้อีกปัจจัยหนึ่ง

ลิงค์กลับ (Back Links) เปรียบเสมือนการให้การยอมรับหรือให้เครดิตแก่เว็บไซต์ปลายทางได้เป็นอย่างดี เราลองคิดในเชิงทฤษฏีดูว่า หากเรามีเพื่อนอยู่ 5 คน และเพื่อนเหล่านี้ชอบเรามาก ชมว่าเราเป็นคนเก่งสามารถเล่นฟุตบอลได้อย่างยอดเยี่ยม และนำเรื่องของเราไปบอกกับคนอื่นๆ ที่รู้จัก คนอื่นๆ จะต้องเข้าใจว่าเราเป็นคนที่น่ายกย่องในเรื่องของการเล่นฟุตบอล...ใช่ไหม?

ลองเปรียบเทียบเว็บเพจหน้าหนึ่งของเรา หากได้รับการโฆษณา รีวิว หรือแนะนำข้อมูลที่เกี่ยวกับเว็บเพจของเราที่หน้าเว็บเพจอื่นๆ หรือจากเว็บไซต์อื่นๆ ก็ดี ให้ผู้คนต่างๆ ได้อ่านและรู้ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นบริการของเว็บเพจเราและทำลิงค์กลับมายังหน้าเว็บเพจเรา โดยที่ข้อมูลเหล่านี้เราอาจเขียนเองบ้าง หรือคนอื่นนำไปเขียนบ้าง (หากเนื้อหาในหน้าเว็บเพจเราดีจริงจะต้องมีคนสนใจอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ) ซึ่งรวมแล้วเราอาจได้ Back Link จำนวนไม่น้อยที่ลิงค์กลับมายังเว็บเพจ ... Google เองก็นำทฤษฏีแนวคิดการยอมรับและธรรมชาติของมนุษย์มาใช้ในการจัดอันดับกับหน้าเว็บเพจหรือเว็บไซต์เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เองเราอาจสามารถเข้าใจความสำคัญและความเป็นธรรมชาติของ Back Link ได้มากขึ้น มากกว่าแค่การสร้างลิงค์กลับ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและผลกระทบที่ตามมา ซึ่งอาจทำให้ลิงค์นั้นดูไม่มีคุณค่าและไม่มีน้ำหนักพอในการทำให้หน้าเว็บเพจของเรามีอันดับที่ดีขึ้น

จำนวนผู้เข้าชม (Website Traffic) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ โรบอท (Robots) สนใจและเข้ามาเก็บข้อมูลหน้าเว็บเพจเหล่านั้นได้เร็วขึ้น หน้าเว็บเพจที่มีผู้ชมเข้าชมจำนวนมากและสม่ำเสมอจึงเป็นหน้าเว็บเพจที่ Google และ Search Engine ค่ายอื่นๆ อย่าง Yahoo และ Bing ให้ความสนใจและให้เครดิตว่าเป็นเว็บเพจคุณภาพ ควรแก่การจัดเก็บมาทำ Index และจัดอันดับให้ดีขึ้นตามความเหมาะสม

3 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนี้มีส่วนสำคัญในการทำ SEO เป็นอย่างมาก แท้จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมากมายอยู่ภายใน 3 ปัจจัยดังกล่าว แต่โดยรวมแล้วสำหรับผู้เริ่มต้นทำ SEO ต้องศึกษาเกี่ยวกับเหตุและผลในการจัดอันดับ พร้อมทดลองทำ SEO ดู เพื่อวัดข้อเปรียบเทียบสมมุติฐานดังกล่าว จากนั้นก็สรุปผล และปรับปรุงแผนการทำงานให้สอดคล้องกับกระบวนการทาง Search Engine Optimization ให้มากขึ้นในลำดับต่อไป

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

SEO กับ Web on Mobile



ปัจจุบันเทคโนโลยีมือถือและอุปกรณ์สื่อสารเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในโลก Internet เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่พกพาได้ง่ายและสะดวกที่สุด ในยุคแรกๆ ของการเปิดเว็บไซต์บนมือถือนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใช้คนไทย เนื่องจากระบบปฏิบัติการบนมือถือ Application หรือ Browser ที่ใช้อยู่นั้น ยังไม่มีความสามารถเทียบเท่ากับ Browser ที่ใช้บน Computer PC

เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาเร็วมาก โดยเฉพาะยุค Facebook กับมือถือ BB (ฺBlackBerry), iPhone และอื่นๆ ทำให้การเข้าเว็บไซต์หรือการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์จากมือถือเป็นช่องทางที่สามารถทำการตลาดได้มากขึ้นและมีกลุ่มผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ จึงทำให้นับตั้งแต่ปี 2010-2011 บริษัทผลิตมือถือและอุปกรณ์สื่อสารหลายค่ายต้องหันมาแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อชิงตลาดกลุ่มผู้ใช้งานมือถือประเภทนี้กันอย่างหนักหน่วง

ในแง่ของ "ผู้ให้บริการทำเว็บไซต์" ต่างรู้อนาคตดีว่าความสามารถของเว็บไซต์และธุรกิจต่างๆ จะมีแนวโน้มการพัฒนาไปยังจุดใดได้บ้าง ถ้าเว็บไซต์รูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้ได้ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ที่เขียนได้นั้นไม่สามารถเปิดได้บนมือถือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร

แนวคิดการพัฒนาเว็บไซต์ควบคู่ไปกับ Application บนมือถือ คือแนวคิดใหม่ที่จะสามารถต่อยอดความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานและชิงการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "ใครมีเทคโนโลยีเหนือกว่า ก็ได้เปรียบการแข่งขัน" คงใช้ได้ดีในอนาคต



มามองในแง่ของการตลาดออนไลน์และ บริษัทรับทำ SEO ก็คงรู้จุดแข่งตรงนี้ดี ว่าหากมีผู้ค้นหาสินค้าและบริการจาก Google ผ่าน App. บนมือถือ และเห็นเว็บไซต์อยู่ในหน้าผลการค้นหา แต่พอเปิดเว็บไซต์เหล่านั้นดู กลับไม่สามารถชมข้อมูลได้ หรือข้อมูลอาจมีการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ... แน่นอนว่าอาจต้องเสียผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ใช้งานนี้ไปอย่างน่าเสียดาย และเราเองก็ไม่ได้หวังว่าจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับลูกค้าของเรา

แนวคิดการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า จะช่วยสร้างความได้เปรียบสำหรับการแข่งขันในโลกออนไลน์ได้ วันนี้ธุรกิจของคุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเติมเต็มศักยภาพดังกล่าว